เมื่อเร็ว ๆ นี้ วารสาร MASCIInnoversity ได้นำเสนอบทความ เรื่อง “มาตรฐานไอเอสโอกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” อันแสดงถึงบทบาทสำคัญของมาตรฐานไอเอสโอในการรวมเอาประเด็นด้านความยั่งยืนเอาไว้เพื่อให้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้เป็นโลกที่ยั่งยืน ดังนั้น ในการดำเนินงานของไอเอสโอจึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกไอเอสโอและผู้เชี่ยวชาญประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อนำมาพัฒนามาตรฐานสากลที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนทั่วโลก และก้าวข้ามความท้าทายในอนาคตได้
สำหรับบทความในครั้งนี้ ขอนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจของการดำเนินงานของไอเอสโอซึ่งมีการจัดประชุมประจำปีขึ้นทุกปี เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น การรับฟังความต้องการของคนทั่วโลก และทราบแนวโน้มของสังคมโลกเพื่อนำข้อมูลในเชิงลึกที่ได้รับมาพัฒนามาตรฐานสากลให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโลกต่อไป
ในปีที่ผ่านมา เจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของไอเอสโอคือ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงแห่งประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE Ministry of Industry and Advanced Technology: MoIAT) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 -23 กันยายน 2565 ที่ศูนย์ธุรกิจ ADNOC เมืองอาบูดาบี โดยมุ่งเน้นหัวข้อ “ความร่วมมือกันเพื่อสิ่งที่ดี” (Collaborating for Good) ในการส่งเสริมมาตรฐานระหว่างประเทศเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรม สนับสนุนดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก และยกระดับเป้าหมายการพัฒนาผ่านโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพขั้นสูงอย่างยั่งยืน
ในการประชุมดังกล่าว ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ให้ความสำคัญกับการส่งออกเพิ่ม และการขับเคลื่อนการดำเนินการด้านสภาพอากาศโดยยกระดับความร่วมมือกับหน่วยงานมาตรฐานจากทั่วโลก ในขณะที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็พยายามดำเนินการตามเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมระดับโลก ให้การสนับสนุนวาระการสร้างมาตรฐานระดับโลกและปฏิบัติอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานสากลซึ่งช่วยส่งเสริมการเติบโตทางการค้า กระตุ้นและเพิ่มความเชื่อมั่นในการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย
ในการประชุมดังกล่าว มีหัวข้อที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก คือ “นวัตกรรมสำหรับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป” ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านสภาพภูมิอากาศมารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันแนวคิด และออกแบบวิธีแก้ปัญหาสภาพอากาศด้วยบรรยากาศของความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีหัวข้อ “ความสอดคล้องกันของระบบมาตรฐานสากล” ที่ได้กล่าวถึงความท้าทายระดับโลกต่อชุมชนมาตรฐานระดับโลก ทั้งหมดนี้แสดงถึงโอกาสและความท้าทายในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลกซึ่งมีความมุ่งหวังที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกันในการทำให้โลกนี้ดียิ่งขึ้นสำหรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในช่วงท้ายของการประชุม ประเทศสมาชิกของไอเอสโอได้สนับสนุนให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมกับผู้แทนระดับประเทศของตนเองในการประชุม COP 27 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบทบาทของมาตรฐานสากลในการเปลี่ยนความมุ่งมั่นด้านสภาพอากาศไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิผล รวมทั้งส่งเสริมข้อตกลงการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศของไอเอสโอที่มีชื่อว่า IWA 42, Net Zero Guideline ด้วย
ในปี 2566 นี้ เจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของไอเอสโอคือประเทศออสเตรเลีย กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 22 กันยายน 2566 ที่กรุงบริสเบน โดยมุ่งเน้นหัวข้อ “การตอบสนองความต้องการของโลก” (Meeting global needs) ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญของโลกในการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกจากทั่วโลกเข้ามามีส่วนร่วมในการสนทนาเชิงสร้างสรรค์เกี่ยวกับความท้าทายที่เร่งด่วนที่โลกของเราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงการมองไปยังอนาคตเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกัน
การประชุมดังกล่าวประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้นำจากชุมชนไอเอสโอทั่วโลก ตลอดจนตัวแทนภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคมซึ่งจะมาร่วมกันแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มและความท้าทายของโลกที่ครอบคลุมหัวข้อที่หลากหลาย เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ การทำฟาร์มอัจฉริยะ เศรษฐกิจหมุนเวียน และพลังงานสะอาด เป็นต้น
อุลริกา แฟรงค์เก้ ประธานไอเอสโอได้กล่าวถึงการประชุมไอเอสโอประจำปี 2566 ว่าการประชุมประจำปีของไอเอสโอในปีนี้มีรายการที่น่าสนใจมาก มีวิทยากรที่สร้างแรงบันดาลใจ และมีสถานที่ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม สามารถอภิปราย และทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี ในขณะที่เอเดรียน โอคอนเนลล์ ซีอีโอของสถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย (Standards Australia: SA) ได้กล่าวถึงการประชุมที่จะเกิดขึ้นนี้ว่ามาตรฐานสามารถกำหนดโลกของเราโดยอาศัยความร่วมมือของผู้นำ มาตรฐานและกฎระเบียบที่ได้รับฉันทามติ (Consensus) นโยบายที่จัดตั้งขึ้น รวมทั้งความคิดริเริ่มในการแก้ไขปัญหาระดับโลกร่วมกัน การรวมตัวกันเพื่อแบ่งปันความรู้และมุมมองใหม่ ๆ จะทำให้เห็นว่ามาตรฐานจะทำให้ชีวิตง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น และดีขึ้นได้อย่างไร
ที่มา: 1. https://wam.ae/en/details/1395303084712
2. https://marketingedge.com.ng/dg-son-leads-nigerian-delegation-to-2022-iso-general-assembly-in-abu-dhabi/
3. https://www.iso.org/annualmeeting
Related posts
Tags: COP27, Future challenges, ISO, IWA 42, MoIAT, SDGs, standard, Standardization, Standards Australia, Sustainability
ความเห็นล่าสุด