วารสาร MASCIInnoversity ในครั้งที่แล้ว ได้นำเสนอบทความเรื่อง “มาตรฐานไอเอสโอตอบสนองความท้าทายระดับโลก” ซึ่งได้กล่าวถึงการดำเนินงานของไอเอสโอที่มีการจัดประชุมประจำปีขึ้นทุกปี โดยในปี 2566 ไอเอสโอกำหนดจัดการประชุมประจำปีในหัวข้อ “การตอบสนองความต้องการของโลก” (Meeting Global Needs) ระหว่างวันที่ 18 – 22 กันยายน 2566 ณ กรุงบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายที่เร่งด่วนระดับโลกที่ครอบคลุมหัวข้อต่าง ๆ อย่างหลากหลาย
สำหรับประเทศออสเตรเลีย สถาบันมาตรฐานแห่งชาติของประเทศออสเตรเลีย (Standards Australia: SA ก่อตั้งเมื่อปี 2465/ค.ศ.1922) มีความเชื่อมั่นว่าประเทศออสเตรเลียมีศักยภาพในการเป็นผู้นำระดับโลกในการปรับใช้ Metaverse ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็สามารถกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับ Metaverse ด้วย เนื่องจากออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเจาะระบบออนไลน์สูงที่สุดในโลก โดยอยู่ที่ 91 % ในปี 2565 (ค.ศ.2022) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลออสเตรเลียและ SA จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานและกฎระเบียบเพื่อให้ชาวออสเตรเลียปลอดภัย
คาเรน ไรลีย์-ทาคอส ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการของ SA กล่าวว่าจำเป็นต้องมีมาตรฐาน Metaverse เพราะการนำมาตรฐานไปใช้เป็นขั้นตอนสำคัญต่อการปรับใช้ Metaverse อย่างปลอดภัยสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี ซึ่งนับเป็น 2 ใน 3 ของผู้ใช้ Metaverse
ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากในเดือนเมษายน 2566 SA ได้เปิดตัวสมุดปกขาวที่เป็นเอกสารทางเทคนิค ชื่อ Metaverse and standards white paper จัดทำโดย SA ร่วมกับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่มีชื่อว่า Responsible Metaverse Alliance (RMA) ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลกลางของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งระบุว่าเพื่อให้ออสเตรเลียสามารถป้องกันและจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับ Metaverse จึงจำเป็นต้องทำจากงานที่มีอยู่แล้วในด้านความปลอดภัยออนไลน์และความปลอดภัยที่มาจากการออกแบบ
เอกสารดังกล่าวระบุว่ามาตรฐาน Metaverse ควรสร้างขึ้นจากประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้ คือ สิทธิในประสบการณ์จริง สิทธิในความเป็นส่วนตัวทางอารมณ์ สิทธิในความเป็นส่วนตัวทางพฤติกรรม และสิทธิในความเป็นมนุษย์ โดยเน้นว่าประเทศออสเตรเลียที่โอกาสที่จะเป็นผู้นำระดับโลกในการปรับใช้ Metaverse อย่างปลอดภัย
ดร.แคทรินา วอลเลซ ผู้ก่อตั้ง RMA อธิบายด้านมืดของ Metaverse ว่าเอไอที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นอวตารในด้านมืดนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่าดาร์กเวอร์สได้ถูกนำไปใช้ล่อลวงและแบล็กเมลเด็ก ทำให้เด็กตกอยู่ในความเสี่ยงและอันตรายซึ่งถือว่าเป็นภัยอย่างร้ายแรงอย่างยิ่งสำหรับ Metaverse ที่ไร้การควบคุม นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาตรฐานมาใช้เป็นแนวปฏิบัติเพื่อปกป้องกลุ่มที่เปราะบางเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่มีข้อบังคับเฉพาะสำหรับ Metaverse นอกเหนือจากกฎหมายคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัวที่มีอยู่แล้ว รวมทั้งกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายอาญา
ยิ่งไปกว่านั้น จากการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของ Bloomberg ระบุว่า Metaverse อาจมีมูลค่าสูงถึง 800 พันล้านภายในปี 2568 (ค.ศ.2025) และ 2.5 ล้านล้านภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) ด้วยเหตุนี้ Metaverse จึงเปรียบเสมือนจักรวาลในอนาคตที่บริษัทใหญ่ ๆ ต่างกระตือรือร้นที่จะลงทุนอย่างมากในเทคโนโลยีใหม่ ดังนั้น โลกจึงจำเป็นต้องเตรียมรับมืออย่างใหญ่หลวงกับด้านมืดของ Metaverse ให้ได้
ในปี 2566 นี้ จึงเป็นที่น่าจับตามองว่าการประชุมประจำปีของไอเอสโอจะหยิบยกมาตรฐานเกี่ยวกับ Metaverse และเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาพูดถึงในแง่มุมใดบ้าง ซึ่งวารสาร MASCIInnoversity จะนำมาเสนอในโอกาสต่อไป
2. https://www.plugxr.com/augmented-reality/what-to-expect-in-metaverse-future-2030/
Related posts
Tags: Behavioral privacy, Darkverse, Emotional privacy, Human agency, Metaverse, Right, RMA, safety, standard, Standardization, Standards Australia, Technology
Recent Comments