จะเห็นได้ว่ามาตรฐานระบบการจัดการไอเอสโอที่เกิดขึ้นมาใหม่ ๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยมีพื้นฐานมาจากภาคผนวก L หรือ Annex L (เดิมเรียกว่า Annex XL และเปลี่ยนมาเป็น Annex L เมื่อปี 2562/ค.ศ.2019) ซึ่งหมายถึงโครงสร้างระดับสูงซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้ร่วมกันของมาตรฐานต่าง ๆ
Annex L (Annex XL) ได้เข้ามาแทนที่ ISO Guide 83, High level structure and identical text for management system standards and common core management system terms and definitions ซึ่งได้ให้โครงสร้างพื้นฐานและข้อความที่เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับระบบการจัดการ แต่เนื่องจากมีข้อร้องเรียนของผู้ใช้งานว่าในการนำมาตรฐานระบบการจัดการบางฉบับไปใช้ร่วมกันนั้น (เช่น ISO 9001, ISO 14001 และ ISO/IEC 27001) มาตรฐานมีการอธิบายและจัดระเบียบที่แตกต่างกัน ทำให้การนำมาตรฐานหลายฉบับไปใช้ร่วมกันในองค์กรทำได้ยาก
ดังนั้น ไอเอสโอโดย ISO/TMBG/JTCG (คณะกรรมการบริหารด้านวิชาการร่วมกับกลุ่มความร่วมมือด้านวิชาการ) จึงออกแบบ Annex L ขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านั้นโดยสร้าง Template ระบบการจัดการขึ้นมาสำหรับอนาคต ซึ่งเนื้อหาหลักใน Annex L เขียนขึ้นมาเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่พัฒนามาตรฐานโดยครอบคลุมโครงสร้างระดับสูง คำศัพท์/คำจำกัดความที่ใช้ร่วมกัน และชื่อข้อกำหนดที่ใช้ร่วมกันและข้อความ ตัวอย่างของ “โครงสร้างระดับสูง” ที่ครอบคลุมภาคผนวก L เช่น ลักษณะต่างๆ ตั้งแต่การสนับสนุนไปจนถึงการปฏิบัติการ และความเป็นผู้นำไปจนถึงการวางแผนงาน เป็นต้น
ภาคผนวก L ได้ช่วยแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับองค์กรที่ต้องการนำมาตรฐานหลายฉบับไปใช้ร่วมกัน โดยได้กำหนดให้ใช้โครงสร้างทั่วไปที่ช่วยประหยัดเวลาและความพยายามสำหรับองค์ประกอบของมาตรฐานการจัดการคุณภาพที่เกิดขึ้นซ้ำๆ และสามารถเพิ่มเรื่องที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมากขึ้นได้ เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัย เป็นต้น
การรวมระบบการจัดการ (Integrated Management System) ที่แท้จริงเป็นการนำกระบวนการที่คล้ายกันไปใช้ร่วมกันโดยไม่ซ้ำซ้อน องค์ประกอบของระบบการจัดการที่มีอยู่ในแต่ละระบบถือเป็นทรัพยากรทั่วไป มีการกำหนด การปรับใช้ และการจัดการในลักษณะเดียวกัน และไม่ต้องตีความบทบาทหน้าที่ในเรื่องการนำไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จในแต่ละมาตรฐาน
นอกจากนี้ Annex L ยังได้ยกระดับแนวคิดการป้องกันและแก้ไขให้เป็นกระบวนการประเมินความเสี่ยงที่ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงในเชิงรุกที่มีการคาดหมายและและเน้นย้ำในขั้นตอนการวางแผน ไม่ใช่ในขั้นตอนของการแก้ไขหรือการตอบสนอง มีแนวทางที่สามารถวัดผลได้มากขึ้นสำหรับการวางแผน ตลอดจนทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในวงกว้างขึ้น โดยให้ผู้ร่างมาตรฐานพิจารณาถึงบริบทขององค์กรซึ่งทำให้องค์กรไม่เพียงแต่รับฟังลูกค้า พนักงาน และซัพพลายเออร์เท่านั้น แต่ยังรับฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานด้วย เช่น ชุมชนที่ล้อมรอบ เพื่อทราบประเด็นที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและการพัฒนานโยบายซึ่งจะเป็นข้อมูลเชิงลึกเพื่อประกอบการตัดสินใจในการคาดการณ์ความเสี่ยง เป็นต้น
นอกจากไอเอสโอแล้วยังมีบางภาคส่วนได้นำ Annex L ไปใช้งานด้วย เช่น International Automotive Task Force – IATF 16949 และกลุ่มคุณภาพการบินและอวกาศระหว่างประเทศ (IAQG) – AS9100/10/20 เป็นต้น
ปัจจุบัน Annex L ช่วยให้ผู้นำมาตรฐานระบบการจัดการของไอเอสโอไปใช้งานสามารถรวมระบบการจัดการหลายระบบที่ต้องการใช้งานเข้าด้วยกัน ทำให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มา: 1. https://the9000store.com/articles/iso-9001-2015-annex-sl/
2. https://integrated-standards.com/articles/annex-sl/
Related posts
Tags: Annex L, Annex XL, Efficiency, High Level Structure, IMS, ISO, standard, Standardization
ความเห็นล่าสุด