ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและส่งผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นสภาพที่รุนแรงของน้ำท่วม คลื่นความร้อน ภัยแล้ง หรือภัยธรรมชาติอื่น ๆ อีกมากมาย หากผู้คนทั่วโลกยังคงเพิกเฉย ไม่ลงมือแก้ไขแล้ว วิกฤตเหล่านี้ก็จะยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและจะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในรูปแบบของการใช้ชีวิตอย่างที่เราคาดไม่ถึงอีกด้วย
การที่ประชาชนจะได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค มีความปลอดภัยและมีอิสรภาพในการดำรงชีพและได้รับการคุ้มครองจากรัฐตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้น หากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย่อมมีผลต่อการใช้ชีวิต สุขภาพ อาหาร และมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนทั่วโลกอย่างแน่นอน
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าระหว่างปี 2573 ถึง 2593 (ค.ศ.2030 – 2050) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมประมาณ 250,000 คน ในแต่ละปีจากภาวะทุพโภชนาการ มาลาเรีย โรคท้องร่วง และความเครียดจากความร้อน ในขณะที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่ายังมีผู้ยากไร้ที่จะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากการเข้าถึงอาหาร น้ำ สุขาภิบาล และที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมรวมถึงสิทธิในสุขภาพซึ่ง อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทและต้องพึ่งพาเกษตรกรรม ป่าไม้ และการประมงเพื่อความอยู่รอดถึงร้อยละ 78 ของโลกหรือประมาณ 800 ล้านคน ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นล้วนเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั่นเอง
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่ประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) กล่าวถึงภาวะโลกร้อนว่าเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ลุกลามไปทั่วโลก เนื่องมาจากสภาพอากาศที่รุนแรงและภัยพิบัติจากสภาพอากาศได้ทำให้เกิดการคุกคามสิทธิในระดับสากลในเรื่องการบริโภคอาหาร
หากมองสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้น โวลเกอร์ เติร์ก กล่าวว่าตามวิถีปัจจุบันของโลกนั้น เราไม่อาจทำใจยอมรับได้ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงปลายศตวรรษจะสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียสซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิโลกระดับขีดจำกัดที่ 1.5 องศาเซลเซียสตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีสที่สำคัญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นหมายความว่าหากปล่อยให้ปัญหาวิกฤตสภาพอากาศยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้จนกระทั่งถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเราแล้ว สภาพอากาศ อาหาร น้ำ และชีวิตมนุษย์จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง กลายเป็นภาระของลูกหลานของเรา เขาจึงได้กล่าวกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนโดยเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวโดยเร็ว
โวลเกอร์ เติร์ก เน้นว่าผู้นำโลกในปัจจุบันมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างเร่งด่วนในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสำหรับสิทธิในอาหารก็ถูกคุกคามอย่างรอบด้านจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นับตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนศตวรรษได้เกิดภัยพิบัติที่มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศและน้ำท่วมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 134
เหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงและภัยพิบัติไม่เพียงแต่ทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตของเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างรวดเร็วและไม่หยุดยั้งจนทำให้ไม่สามารถสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่ และทำให้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
COP 28 ตัวเปลี่ยนเกมที่เด็ดขาด
โวลเกอร์ เติร์ก ชี้ให้เห็นว่าหากคนทั่วโลกนับล้านยังคงมีความอดอยากในประเทศต่าง ๆ แล้ว ไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังทำลายสิ่งแวดล้อมบนโลกของเราและทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย เขาจึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล การเปลี่ยนการพัฒนาระหว่างประเทศและสถาบันทางการเงินให้กลายเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการด้านสภาพอากาศ ซึ่งจะทำให้การประชุม COP28 (การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 12 ธันวาคม 2566 ณ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) กลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมที่เด็ดขาด
นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้มีธรรมาภิบาลในด้านนี้เพื่อให้แน่ใจว่ากองทุนด้านสภาพอากาศจะมีการส่งไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดด้วย และชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ธุรกิจและรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบหากเกิดคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วย
เขากล่าวโดยสรุปว่าบัดนี้ถึงเวลาแล้วที่มนุษยชาติจะต้องไม่ส่งมอบอนาคตแห่งความหิวโหยและความทนทุกข์ทรมานให้กับคนรุ่นหลัง และยืนยันว่าตอนนี้ เรามีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ด้วยเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์เพื่อเปลี่ยนแปลงและส่งมอบอนาคตที่ดีให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานของเราได้
เพื่อที่จะส่งมอบอนาคตที่ดีให้คนรุ่นต่อไปนั้น เราจะต้องร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อหยุดยั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังลุกลามไปทั่วโลกด้วยความเชื่อมั่นในความเท่าเทียมกันของสภาพภูมิอากาศ และการลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยไม่ลืมว่าเรายังมีเครื่องมือสำคัญอันทรงพลังอีกอย่างหนึ่งในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยซึ่งก็คือ มาตรฐานไอเอสโอด้านความยั่งยืนที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ก้าวข้ามความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่กำลังกดดันโลกของเราให้ได้
ที่มา: 1. https://www.greenpeace.org/thailand/story/20765/general-human-rights-climate-crisis/
2. https://news.un.org/en/story/2023/07/1138297
Related posts
Tags: Climate Change, COP28, FAO, ISO, OHCHR, standard, Standardization, Sustainability, UN
Recent Comments