การประชุมประจำปี 2566 ของไอเอสโอ (ISO Annual Meeting 2023) กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 22 กันยายน 2566 ณ เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย จะมีการอภิปรายแนวโน้มและความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานสากล และบทบาทของมาตรฐานสากลในการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานสถาบันมาตรฐานแห่งชาติกว่า 160 แห่งจากทั่วโลก ผู้แทนภาครัฐ ธุรกิจอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคประชาสังคมด้วย
หนึ่งในหัวข้อที่จะมีการหยิบยกขึ้นมาอภิปรายร่วมกันในการประชุมครั้งนี้ คือเรื่องของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ซึ่งจะมี ดร. โคบี เลนส์ นักวิชาการอาวุโสกิตติมศักดิ์แห่งคิงส์คอลเลจลอนดอน และผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านเอไอ มาร่วมอภิปรายด้วย นอกจากนี้ ดร. โคบี เลนส์ ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประทศและการกำกับดูแล นักวิจัยด้านจริยธรรมดิจิทัล วิทยากร และได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการเป็นจำนวนมาก
ดร. โคบี เลนส์ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเข้าใจด้านเอไอและสามารถเชื่อมโยงนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงแนวคิดดังกล่าวที่มีความซับซ้อนได้ โดยจะร่วมอภิปรายในหัวข้อ “พร้อมหรือไม่ เอไอมาแล้ว” เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบทางการเมือง ทางสังคม และทางจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์
ดร. โคบี เลนส์ ได้เปิดเผยเรื่องของเอไอไว้บางส่วนในบทความของวารสารไอเอสโอ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566 โดยสรุปประเด็นที่สำคัญได้ ดังต่อไปนี้
- เอไอเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพในการเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการพัฒนาและความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่ต้องมีการจัดการอย่างเหมาะสม
- ความเสี่ยงบางประการของเอไอที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ อคติ การเลือกปฏิบัติ การละเมิดความเป็นส่วนตัว และ Job replacement
ดังนั้น จึงต้องใช้ข้อมูลด้วยความระมัดระวัง
- ความจำเป็นในการมีมาตรฐานและกฎระเบียบสากลเกี่ยวกับเอไอคือเพื่อช่วยลดความเสี่ยงเหล่านั้นและทำให้มีการนำเอไอไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
- มาตรฐานสากลสามารถช่วยทำให้มั่นใจว่าเอไอจะได้รับการพัฒนาและมีการนำไปใช้อย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีการนำข้อมูลไปใช้อย่างมีจริยธรรม ซึ่งอันที่จริงแล้ว ประโยชน์ของเอไอมีมากกว่าความเสี่ยง
- เอไอมีความเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย ได้แก่ กำหนดนโยบาย ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ดังนั้น หากจะได้รับคำตอบที่ถูกต้อง และตรงกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จำเป็นต้องตั้งคำถามให้ถูกต้อง ตรงประเด็นเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการใช้เอไอในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
- เอไอต้องได้รับความมั่นใจว่ามีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจวิธีการทำงานและมั่นใจว่าระบบจะไม่ถูกนำไปใช้ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงหรืออันตราย
- เอไอจำเป็นต้องได้รับการลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาต่อไปเพื่อให้มั่นใจว่าเอไอมีความปลอดภัยและมีการนำไปใช้อย่างมีความรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตาม เอไอเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เป็นอย่างดี และสิ่งสำคัญที่สุดคือ “มาตรฐานสากล” สามารถช่วยให้มั่นใจได้ว่าเราจะสามารถสร้างความสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนหรือประโยชน์ของเอไอได้ในที่สุด
ที่มา: https://www.iso.org/news/artificial-intelligence-rewards
Related posts
Tags: Accountability, AI, Bias, ISO, Risk, standard, Standardization, transparency
ความเห็นล่าสุด